รีวิวหนัง : Seoul Station
ประสบความสำเร็จไปไม่น้อยเลย สำหรับสหมงคลฟิล์มฯ ที่ตัดสินใจนำภาพยนตร์ซอมบี้จากแดนกิมจิอย่าง Train to Busan ด่วนนรกซอมบี้คลั่ง เข้ามาฉายในไทย ซึ่งนอกจากจะสร้างกระแสในประเทศบ้านเกิดแล้ว ยังสร้างกระแสในไทยได้ไม่แพ้กัน ไม่นานนักก็มีแอนิเมชั่นการ์ตูนในชื่อ Seoul Station เข้าฉายตามมา ผลงานของผู้กำกับคนเดียวกัน ยอน ซังโฮ ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นก่อนล้อรถไฟสายปูซานจะออกจากชานชาลา แน่นอนว่าผมไม่พลาดที่จะตามไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงโซลว่ามันเกิดเรื่องเกิดราวอะไรขึ้นกันแน่ รีวิวหนังเอเชียเก่าและใหม่
Seoul Station ก่อนนรกซอมบี้คลั่ง ว่าด้วยเรื่องราวของ ซุกคิว ที่พยายามตามหา ฮเยซัน ที่หนีออกมาอยู่บริเวณใจกลางของกรุงโซล แต่ในระหว่างนั้นก็ได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น ณ สถานีรถไฟโซลจนทำให้ผู้คนแตกตื่นวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น เหตุเพราะชายเร่ร่อนคนหนึ่งที่ได้ฟื้นขึ้นจากความตายกลายมาเป็นซอมบี้ และเริ่มแพร่เชื้อโจมตีผู้คนมากมายอย่างไม่เลือกหน้า ในขณะที่ทางฝั่งของรัฐบาลตัดสินใจที่จะปิดเมืองกั้นเป็นอาณาเขตกักกัน และรอจนกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อซอมบี้นี้จะยุติลง เมื่อเป็นดังนั้น ซุกคิวและฮเยซันจึงต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหนีตายและเอาชีวิตให้รอดพ้นจากเหล่ากองทัพซอมบี้กระหายเลือด
แอนิเมชั่นเดินเรื่องเป็นเส้นตรง โดยเริ่มต้นเรื่องจากเหตุการณ์ของบุคคลที่สามแล้วเชื่อมโยงมายังตัวเอกของเรื่องคือ ซุกคิว กับ ฮเยซัน ประกอบกับแอนิเมชั่นมีตัวละครหลักเพียงไม่กี่ตัว ซึ่งแต่ละตัวละครก็มีความเป็นเอกลักษณ์อย่างชัดเจน ทำให้จดจำได้ง่ายและไม่สับสน แม้ว่าจะเป็นแอนิเมชั่นสยองขวัญ แต่ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ไม่มีฉากจั้มป์สแคร์หรือผีตุ้งแช่ให้เห็น ยังคงมีกลิ่นอายของ Train to Busan ด่วนนรกซอมบี้คลั่ง ให้เห็นอยู่บ้าง ที่สำคัญยังมีช่วงจังหวะให้ลุ้นระทึกอยู่ตลอด และการหักมุมในช่วงท้ายที่ทำให้เผลออุทานในใจว่า “อย่างนี้ก็ได้หรอ”
หากใครที่ดูแอนิเมชั่นจากทางฝั่งญี่ปุ่นบ่อย ๆ แล้วชมแอนิเมชั่นเรื่องนี้อารมณ์อาจจะดรอปลงไปเล็กน้อยเท่านั้น เพราะแอนิเมชั่นจากทางฝั่งเกาหลีเรื่องนี้อาจจะยังทำได้ดีไม่เท่ากับแอนิเมชั่นจากทางฝั่งญี่ปุ่น ซึ่งจะเห็นได้ชัดในฉากวิ่งของตัวละคร ทำให้ผมไม่ได้เห็นการวิ่งสี่คูณร้อยของเหล่าซอมบี้เหมือนในเวอร์ชั่นภาพยนตร์คนแสดงอีกแล้ว แต่โดยภาพรวมก็ไม่ได้ทำให้เสียอรรถรสลงไปแต่อย่างใด เสียงพากย์ดังฟังชัดไม่มีเสียงแตกพร่าให้ได้ยิน จังหวะเพลงเร้าอารมณ์ก็ทำออกมาได้ดี แต่ความรู้สึกส่วนตัวมองว่าภาพรวมน่าจะทำได้ดีกว่านี้
ผมค่อนข้างคาดหวังกับภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้มากทีเดียว ด้วยเรื่องราวที่นำเสนอว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน Train to Busan ด่วนนรกซอมบี้คลั่ง ข้อสงสัยบางอย่างที่เคยมีในเวอร์ชั่นภาพยนตร์อาจจะได้รับการไขกระจ่างในแอนิเมชั่นเรื่องนี้ ต้องยอมรับว่าอาจเป็นเพราะความเข้าใจผิดของผมเองที่ดันไปเข้าใจว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้จะมีความเกี่ยวข้องกัน หากจะว่าไปแล้วแม้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นก่อนขบวนรถไฟสถานีปลายทางปูซานจะออกจากชานชาลา แต่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใจกลางกรุงโซล ประหนึ่งว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นอีกมุมหนึ่งเท่านั้น แทบไม่มีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกันให้เห็น
การตีแผ่สภาพสังคมของคนในเกาหลีใต้ การตีแผ่นิสัยในด้านมืดของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอดถูกหยิบยกมาสอดแทรกในแอนิเมชั่นเรื่องนี้เช่นเคย แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดที่สุดคือความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมที่ถูกนำมาเล่นตั้งแต่ต้นเรื่องยันท้ายเรื่อง ในขณะที่ประเด็นด้านมืดในจิตใจคนเมื่อต้องเอาชีวิตรอดนั้นกลับดรอปลงไปไม่เข้มข้นเท่ากับในภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ด่วนนรกซอมบี้คลั่ง รวมไปถึงการดิ้นรนของทุกคนในโลกเศรษฐกิจทุนนิยมที่แม้ว่าเงินจะไม่ใช่พระเจ้า แต่ก็มีอำนาจที่ไม่แตกต่างกัน
ในวันที่โลกกำลังหมุนต่อไปอย่างช้า ๆ เศรษฐกิจของโลกในระบบทุนนิยมก็กำลังฆ่าคนบางกลุ่มอย่างช้า ๆ เช่นกัน เมื่อคนรวยรวยยกกำลัง แต่คนจนนั้นจนติดสแควร์รูทกำลังมีให้เห็นมากขึ้นในสังคม ยิ่งวันชนชั้นระหว่างคนยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น แม้จะไม่มีระบบวรรณะเป็นตัวกำหนด แต่สภาพอดอยากปากแห้งไม่มีจะกินนั้นคือวรรณะที่ตราหน้าโดยไม่ต้องสงสัย ชีวิตคนเรามีต้นทุนทางสังคมที่ไม่เหมือนกัน ในวันนี้ที่เราพอจะมีพอจะกินพอจะมีสักนิดหนึ่งไหมที่สามารถแบ่งปันให้คนที่มีน้อยกว่าเราได้กินอิ่ม ได้นอนอุ่น และได้มีชีวิตที่มีรอยยิ้มบนโลกใบนี้ที่โหดร้ายขึ้นทุกวัน
Comments
Post a Comment